หลายคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสวยงามทั้งภูมิประเทศและวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่นจะมีความพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัตถุดิบที่เน้นให้ประโยชน์ร่างกายหรือเครื่องดื่มที่ถูกเลือกให้เหมาะสมกับเมนูอาหารนั้น ๆ เพื่อช่วยส่งเสริมรสชาติและรสสัมผัส รวมไปถึงการใช้ภาชนะที่ทำจากดินเผาหรือไม้เพื่อกักเก็บความร้อนและเพิ่มกลิ่นหอม ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ในบทความ 10 เมนูอาหารญี่ปุ่นที่สามารถทำกินเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน สำหรับคนรักการทำอาหาร EP.1 เรื่องนี้ เราก็จะพาทุกคนไปดูเหล่าเมนูอาหารญี่ปุ่นที่สามารถทำกินเองได้ง่าย ๆ ที่บ้านกันครับ ไปรับชมพร้อม ๆ กันเลย
10 เมนูอาหารญี่ปุ่นที่สามารถทำกินเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน สำหรับคนรักการทำอาหาร EP.1
Sushi ซูชิ
พูดถึงอาหารญี่ปุ่นเราก็คงจะต้องเริ่มต้นกันที่เมนูยอดฮิตอย่างซูชิกันก่อน ซูชินี่เป็นอาหารญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกและเป็นอาหารประจำชาติญี่ปุ่นเลยค่ะ คำว่า “ซูชิ (寿司)” ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าข้าวปั้นที่มีหน้าค่ะ สมัยก่อนเนี่ยคนญี่ปุ่นนิยมนำข้าวมาปั้นกับปลาหมักหรือน้ำส้มสายชูไว้ทานตอนที่ต้องเดินทางไกล ต่อมาก็มีการเปลี่ยนจากปลาหมักมาเป็นปลาสดรวมไปถึงหน้าตาและวิธีการปั้นที่หลากหลายจนกลายมาเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ แต่วันนี้เราไม่ต้องบินไปไกลจนถึงญี่ปุ่นเพราะแค่ออกไปตลาดนัดก็มีซูชิให้เลือกซื้อแล้ว (ล้อเล่นค่ะ) วันนี้เรามาเข้าครัวรับบทแม่บ้านญี่ปุ่นทำซูชิทานเองสักหน่อย ขอบอกว่านอกจากความอร่อยแล้วขั้นตอนการทำซูชิยังสนุกและสามารถทำได้ทั้งครอบครัวอีกด้วย
วัตถุดิบซูชิ
- ข้าวญี่ปุ่น
- แซลมอนสด
- กุ้งสด
- สาหร่ายแผ่นใหญ่
- น้ำปรุงรสข้าวซูชิ
- น้ำเปล่า
- วาซาบิ
วิธีทำซูชิ
ขั้นตอนแรกเราจะหุงข้าวกันก่อน เราจะนำข้าวญี่ปุ่นมาล้างทำความสะอาดหลาย ๆ รอบจนกว่าน้ำจะใส ขณะล้างก็ใช้มือคอยคนข้าวไปเรื่อย ๆ จนแน่ใจว่าข้าวสะอาดดีแล้ว เทข้าวใส่หม้อหุงข้าวแล้วเติมน้ำในปริมาณที่เท่ากัน จากนั้นกดปุ่มเปิดการทำงานของหม้อหุงข้าว รอจนกระทั่งไฟตัดและข้าวสุกดีแล้ว ขณะหุงแนะนำให้จับเวลาด้วยนะคะ เพราะตอนที่ไฟตัดแล้วเราจะใช้เวลาพักข้าวเท่า ๆ กับเวลาในการหุง ช่วยให้ข้าวนุ่ม ไม่แข็งค่ะ ข้าวครบเวลาแล้วตักออกมาเกลี่ยในภาชนะที่มีขนาดใหญ่หน่อย ใช้ทัพพีคนข้าวให้กระจายตัวจนทั่วเลยค่ะ จากนั้นใส่น้ำปรุงรสข้าวลงไปประมาณ ⅓ ของข้าวค่ะใช้ทัพพีคนผสม คลุกเคล้าให้ข้าวและน้ำปรุงรสเข้ากันดี ขณะที่ข้าวคายความร้อนก็จะดูดซับน้ำปรุงรสเข้าไปจนหมด คนต่อจนข้าวหายร้อนและสามารถจับปั้นได้ ต่อมาก็จะเป็นในส่วนของหน้าซูชิกันค่ะ เราจะนำแซลมอนสดมาแล่ให้เป็นชิ้นขนาดตามต้องการ ส่วนกุ้งก็นำมาตัดหัว เสียบไม้เสียบลูกชิ้นลงไปเพื่อดัดให้ตัวกุ้งตรงแล้วนำไปต้มจนสุกตามต้องการ ตักขึ้นน็อกน้ำเย็นแล้วดึงไม้ออก แกะเปลือกเว้นหาง ใช้มีดผ่าตามแนวยาวท้องกุ้งแล้วแบะออก ระวังอย่าให้ตัวกุ้งขาดนะ ดึงเส้นดำออกแล้วพักไว้ก่อน ต่อมาจะเริ่มปั้นซูชิกัน เริ่มจากหาถ้วยใบเล็ก ๆ สักใบ ใส่น้ำลงไปนิดหน่อย ผสมน้ำปรุงรสข้าวลงไป จากนั้นหันมาตัดสาหร่ายเป็นเส้นหนาตามต้องการพักไว้ จากนั้นเอามือจุ่มน้ำที่เตรียมไว้ให้ทั่ว ระวังอย่าให้มือเปียกมากจนเกินไปนะคะ หยิบข้าวขึ้นมาแล้วปั้นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดตามต้องการ ใช้สาหร่ายห่อรอบ ๆ ก้อนข้าวแล้วใช้น้ำเป็นตัวยึดสาหร่ายเข้าด้วยกัน จากนั้นตักวาซาบิป้ายลงไปบนหน้าเล็กน้อย วางแซลมอนหรือกุ้งลงไป เสร็จเรียบร้อยค่ะ (คุณสามารถใช้วิธีนี้กับหน้าไข่กุ้ง, ไข่แซลมอน หรือ ยำสาหร่าย ก็ได้ อีกหนึ่งหน้าเราจะตัดสาหร่ายเป็นเส้นเล็ก ๆ จากนั้นปั้นข้าวเป็นก้อน ป้ายวาซาบิลงไปตามด้วยแซลมอนหรือกุ้ง นำสาหร่ายมาพันรอบข้าวและหน้าซูชิตามแนวขวาง ยึดให้ติดด้วยน้ำ วิธีนี้มักจะนิยมใช้กับหน้าไข่หวานหรือหน้าปลาไหล หรือเพื่อน ๆ สามารถเปลี่ยนหน้าซูชิเป็นอาหารชนิดอื่นที่ชอบก็ได้นะคะ จากนั้นเสิร์ฟพร้อมโชยุและวาซาบิ
เทคนิคที่ควรรู้
- ควรใช้ภาชนะใบเดียวหรือขนาดใกล้เคียงกันในการตวงข้าว, น้ำ และน้ำปรุงรส การใช้ภาชนะใบเดียวกันจะมีความแม่นยำและทำให้สามารถกะรสชาติของข้าวได้
- ควรเกลี่ยและผสมเทข้าวในภาชนะที่เป็นไม้ เพราะไม้จะช่วยดูดซับความร้อนและทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมมากขึ้นและช่วงแรกที่เทน้ำปรุงรสลงไปข้าวจะค่อนข้างแฉะ ตรงนี้ไม่ต้องกังวลค่ะเพราะเมื่อคนผสมไปเรื่อยข้าวจะดูดซับน้ำเข้าไปและเกาะตัวติดกันมากขึ้น
- แซลมอนที่จะใช้ต้องเป็นเกรดทานดิบเท่านั้นและจะต้องแช่เย็นไว้ตลอดเวลาจนกว่าจำนำออกมาปั้นซูชิ
- ถ้าตัดสาหร่ายหนาหน่อยสาหร่ายก็จะมีขอบสูงขึ้นมา เวลาใส่หน้าจะสะดวกค่ะ ถ้าใส่หน้าประเภทยำสาหร่ายหรือยำหมึกสายจะช่วยให้หน้าซูชิไม่หกเลอะเทะ
- การทานซูชิให้ถูกต้อง คุณจะต้องจับตะเกียบให้มั่นคง ป้ายวาซาบิลงไป จากนั้นพลิกมือแล้วคีบซูชิให้โดนทั้งส่วนข้าวและส่วนหน้าซูชิ วิธีนี้จะช่วยให้ข้าวไม่แตกร่วน จากนั้นพลิกเอาส่วนของหน้าซูชิจุ่มซอสเบา ๆ ระวังไม่ให้ซอสโดนข้าวจนแตกเละ จากนั้นนำซูชิเข้าปากคำเดียวจนหมด ไม่ควรกัดแบ่งครึ่งค่ะ เคี้ยวอาหารในปากจนหมดแล้วจึงค่อยคีบซูชิชิ้นต่อไปเข้ามาทาน
ทงคัตสึดงบุริ
“ดงบุริ (丼)” แปลว่าถ้วยที่มีข้าว เป็นเมนูข้าวราดหน้าต่าง ๆ ของญี่ปุ่น อารมณ์คล้าย ๆ ข้าวกะเพราหรือข้าวราดพริกบ้านเราเลย แต่ดงบุริจะมีรสชาติไม่หนักมาก ออกเค็ม ๆ หวาน ๆ และมีกลิ่นหอมชวนรับประทานเพราะจะต้องทานกับน้ำซุปและเครื่องเคียงอื่น ๆ ส่วนชื่อของดงบุริจะแตกต่างกันออกไปตามวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นท็อปปิ้ง อย่างเมนูนี้เราจะทำทงคัตสึดงบุริหรือเรียกง่าย ๆ ว่าคัตสึด้ง (カツ丼) คำว่า “ทงคัตสึ (豚カツ)” แปลว่าหมูทอด ดังนั้นเมนูนี้จึงแปลเป็นไทยว่าข้าวหน้าหมูทอดนั่นเอง เมนูนี้จะมีหมูทอดกรอบนอกนุ่มใน มาพร้อมกับซอสทงคัตสึรสชาติอร่อยกลมกล่อมราดมาบนข้าวสวยร้อน ๆ หอม ๆ เป็นอาหารจานเดียวที่อิ่ม ทานง่าย และพบซื้อได้ทั่วไปในญี่ปุ่นเลย
วัตถุดิบทงคัตสึดงบุริ
- ข้าวญี่ปุ่นหุงสุก
- สะโพกหมู
- ไข่ไก่
- เกลือ
- พริกไทย
- แป้งสาลี
- เกล็ดขนมปัง
- น้ำมันพืช
วัตถุดิบสำหรับซอสทงคัตสึดงบุริ
- หอมใหญ่
- ต้นหอม
- น้ำตาล
- โชยุ
- มิริน
- น้ำสต๊อกดาชิ
- น้ำมันพืช
วิธีทำทงคัตสึดงบุริ
หยิบเนื้อหมูออกมา แล่หมูออกเป็นชิ้นใหญ่หนา ๆ หน่อย โรยเกลือและพริกไทยเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ พักหมูไว้ก่อน หันมาตอกไข่ใส่จาน ตีให้เข้ากัน จากนั้นเทเกล็ดขนมปังและแป้งสาลีใส่จานแยกไว้ ตั้งกระทะบนเตา เปิดไฟกลางค่อนอ่อน ใส่น้ำมัน รอจนน้ำมันร้อนได้ที่นำหมูลงคลุกแป้งสาลีบาง ๆ ตามด้วยไข่ไก่และเกล็ดขนมปังตามลำดับ นำหมูลงทอดจนสุกเหลืองได้ที่ ตักขึ้นมาพักให้สะเด็ดน้ำมัน หันมาทำซอสดงบุริโดยการซอยหอมใหญ่บาง ๆและหั่นต้นหอมออกเป็นท่อนไม่ยาวมาก นำหอมใหญ่ลงผัดกับน้ำมันจนหอม ใส่น้ำสต๊อกตามลงไป เพิ่มรสชาติด้วยน้ำตาลเล็กน้อย, มิริน และโชยุ เคี่ยวต่อจนหอมใหญ่สุกใส ตอกไข่ใส่ถ้วยอีกใบแล้วตีให้พอแตก จากนั้นหยิบหมูทอดมาหั่นความหนาตามต้องการแล้ววางลงไปบนซอส โรยต้นหอมแล้วราดไข่ไก่ลงไป ปิดฝานับเวลาประมาณ 20 วินาที ปิดเตาตักราดลงบนถ้วยข้าวที่เตรียมไว้ พร้อมเสิร์ฟ
เทคนิคที่ควรรู้
- ใช้ค้อนทุบเนื้อหรือสันมีดทุบเนื้อหนูให้ทั่วจะช่วยให้ชิ้นหมูบางและมีรสสัมผัสนุ่มมากขึ้น และการหั่นหมูไม่ควรหั่นชิ้นหนาจนเกินไปเพราะเกล็ดขนมปังจะไหม้ก่อนที่เนื้อด้านในสุก
- การทำซอสสามารถทำไปพร้อม ๆ กับการทอดหมูได้เลย ยิ่งหมูทอดร้อนเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเพราะตอนที่หมูยังร้อน ๆ จะสามารถดูดซึมซอสเข้าไปได้ดีและเนื้อหมูจะมีกลิ่นหอมซอสมากขึ้น
- ควรกะปริมาณของซอสให้พอดีกับหมูและข้าว ไม่ควรทำซอสมากจนเกินไปเพราะดงบุริเป็นอาหารจานเดียวที่จะทำปริมาณเท่ากับหนึ่งคนทาน ดังนั้นปริมาณซอสและข้าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- นอกจากดงบุริแล้วทงคัตสิยังสามารถนำไปทานคู่กับเมนูอื่นได้อีกมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นราเมน, อุด้ง หรือแกงกะหรี่
สรุป
เป็นยังไงกันบ้าง ไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะ กับ 2 เมนู ที่เราได้นำวิธีการทำมาฝากเพื่อน ๆ กันใน บทความ 10 เมนูอาหารญี่ปุ่นที่สามารถทำกินเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน สำหรับคนรักการทำอาหาร EP.1 เรื่องนี้ อย่าลืมไปทำตามกันนะครับ และ ขอแนะนำว่าไม่ควรข้ามขั้นตอนเด็ดขาดถ้ายังไม่เข้าใจเมนูนั้นจริง ๆ